โรงเรียนเบญจมราชูทิศ (อังกฤษ: Benjamarachutit School) (อักษรย่อ: บ.ม., B.M.) เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสหวิทยาเขตเบญจมราชูทิศ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12 (นครศรีธรรมราช พัทลุง) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 โดยพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโรงเรียนเบญจมราชูทิศ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สร้างบุคลากร และปูชนียบุคคลอันมีชื่อเสียงแก่ประเทศชาติไว้เป็นจำนวนมาก
เดิมโรงเรียนเบญจมราชูทิศเป็นโรงเรียนประจำมณฑลนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษา
ประมาณ พ.ศ. 2434 พระมหาม่วง รตนทฺธโช เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ กลับจากการศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มจัดสอนหนังสือแบบใหม่"มูลบทบรรพกิจ" แก่ภิกษุสามเณรที่วัดท่าโพธิ์ มีสภาพเป็นโรงเรียน เรียกว่า "วิทยาลัยเชลยศักดิ์" ยังไม่ได้จัดชั้นเรียน เรียนเพื่ออ่านหนังสือออก และคิดเลขเป็น โดยใช้โรงธรรมเป็นสถานที่เรียน
พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้เวลาที่ประทับแรมอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระมหาม่วง รัตนธโช (พระรัตนธัชมุนี) ได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง ทรงไต่ถามถึงการพระพุทธศาสนาในจังหวัดนี้ ท่านได้ชี้แจงเป็นที่ชอบพระอัธยาศัย ทรงเห็นว่าเป็นผู้ทรงธรรมวินัยอันน่าเลื่อมใสหลายประการ และทราบว่าเป็นสหชาติ (ผู้เกิดในวัน เดือน ปีเดียว) จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่าพระศิริธรรมมุนี
พ.ศ. 2442 พระมหาม่วง รัตนธโช (พระรัตนธัชมุนี) ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นพระราชาคณะที่พระศิริธรรมมุนี และเป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราช ตลอดไปจนถึงมณฑลปัตตานีด้วย ได้โอนวิทยาลัยเชลยศักดิ์เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกของปักษ์ใต้ ได้จัดตั้งคณะสงฆ์ การศึกษา และการศาสนา จึงเกิดผลสมพระราชประสงค์ ดังปรากฏในรายงานการศึกษา ร.ศ.119 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 จำนวนโรงเรียนซึ่งท่านได้ตั้งทั้งหมด 21 แห่ง โดยโรงเรียนหลวงแห่งแรกตั้งอยู่ที่วัดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบให้อยู่ในความอุปการะของสมุหเทศาภิบาลสมัยนั้น คือ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา" เปิดสอนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 มีนักเรียนประมาณ 50 คน
พ.ศ. 2447 ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนมากขึ้น พระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) จึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นในวัดอีกหลังหนึ่ง และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากสุขุมาภิบาลวิทยาเป็น "โรงเรียนศรีธรรมราช" เพื่อให้โรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และเปลี่ยนการสอน คือ ใช้"หนังสือแบบเรียนเร็ว" แทนมูลบทบรรพกิจ
19 กันยายน พ.ศ. 2447 พระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) ได้โอนกิจการทั้งหมดให้ธรรมการเป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนท่านเองเป็นเพียงผู้อุปการะ โดยจัดการเรียนการสอนตามแบบของกรมศึกษาธิการ และเปิดรับนักเรียนเป็นสมาชิกลูกเสือเป็นครั้งแรก มีผู้สมัคร 6 คน
1 เมษายน พ.ศ. 2455 ธรรมการจังหวัดมีคำสั่งให้รวมกิจการแผนกประถม มัธยม และแผนกฝึกหัดครูเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชั้นฝึกหัดครูเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจึงย้ายแผนกประถมไปเรียน ณ วัดท่ามอญหรือวัดศรีทวีในปัจจุบัน ส่วนแผนกฝึกหัดครู ซึ่งเรียกในสมัยนั้นว่า โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑล และโรงเรียนมีแผนกช่างถมด้วย จึงเป็นเหตุให้สถานที่เรียนไม่พอ ทางโรงเรียนแก้ปัญหาโดยให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปเรียนที่วัดศรีทวี และวัดจันทาราม
3 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ได้เปิดเรียนที่อาคารเรียนหลังใหม่ที่สร้างโดยพระศิริธรรมมุนี (ม่วง รัตนธโช) ซึ่งได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมโกษาจารย์ (ม่วง รัตนธโช) ได้สร้างตึกชั้นเดียวบริเวณนอกกำแพงวัดท่าโพธิ์ทางด้านทิศใต้
12 ตุลาคม พ.ศ. 2460 โรงเรียนได้เปลี่ยนนามเป็น "โรงเรียนเบญจมราชูทิศ" อันเป็นมงคลนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า "อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และอุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวางรากฐานการศึกษาไว้
พ.ศ. 2468 แผนกฝึกหัดครูถูกยกเลิกไป พ.ศ. 2473 มีหนังสือราชการเรื่องการแยกโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชออกเป็น 3 โรงเรียน คือ
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ และหลวงสำเร็จวรรณกิจ ได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน ได้เล็งเห็นถึงสถานที่เรียนไม่เพียงพอ พ.ศ. 2478 ทางราชการได้เริ่มสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นอาคารไม้สองชั้น ในบริเวณสนามหน้าเมือง ในเขตวัดพระสูง บนเนื้อที่ 8 ไร่
18 กันยายน พ.ศ. 2479 ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่บริเวณสนามหน้าเมือง ในเขตวัดพระสูง บนเนื้อที่ 8 ไร่ มีอาคารเรียนเป็นเรือนไม้สองชั้น มีฐานะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ระยะแรกเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
พ.ศ. 2490 ได้เปิดสอนระดับเตรียมอุดมศึกษา มีทั้งแผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกอักษรศาสตร์ และในปี พ.ศ. 2504 ได้ย้ายแผนกอักษรศาสตร์ไปเรียนที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
พ.ศ. 2507 โรงเรียนเปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.ศ.1 แทนการรับเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) อย่างเดิม
พ.ศ. 2514 โรงเรียนเบญจมราชูทิศเข้าสู่โครงการมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้มีโอกาสเลือกเรียน ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต้องใช้พื้นที่สร้างอาคารเรียนมากขึ้น พื้นที่เดิมไม่สามรถรับรองได้ กรมสามัญศึกษาได้จัดงบประมาณจัดซื้อที่ดินแห่งใหม่ บริเวณบ้านทุ่งใสเจริญ หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 88 ไร่เศษ ได้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 30 ล้านบาท และได้ย้ายมาที่เรียนใหม่ในปี พ.ศ. 2519
1 มิถุนายน พ.ศ. 2519 โรงเรียนเบญจมราชูทิศได้ย้ายมาเปิดเรียนที่อาคารใหม่ พร้อมกับเปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรก
24 ตุลาคม พ.ศ. 2523 โรงเรียนได้อัญเชิญรูปหล่อพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธโช) ผู้ให้กำเนิดโรงเรียน จากวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมาประดิษฐาน ณ ศาลาไทยของโรงเรียน
22 กันยายน พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดหอสมุดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
หมวดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกลุ่มพัฒนานักเรียน มีหัวหน้าหมวดและคณะกรรมการหมวดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเป็นคณะที่ปรึกษา โดยกิจกรรมต่างๆทั้งหมดในโรงเรียนจะจัดทำโดยความคิดและความสามารถของนักเรียนทั้งสิ้น โดยมีแกนนำทำงานคือ คณะกรรมการนักเรียน และ คณะกรรมการพรรค
คณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ มีทั้งสิ้น 2 คณะ คือ คณะกรรมการนักเรียนชุดปัจจุบัน และคณะกรรมการนักเรียนชุดที่ปรึกษา คณะกรรมการนักเรียนดำรงตำแหน่ง 1 ปีการศึกษา และเป็นที่ปรึกษาให้คณะกรรมการนักเรียนรุ่นถัดไปอีก 1 ปีการศึกษา โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบัน จะเป็นนักเรียนระดับชั้น ม.5 ทั้งหมด เป็นผู้จัดการวางแผนและดำเนินกิจกรรมต่างๆตลอดปีการศึกษา โดยมีคณะกรรมการนักเรียนรุ่นก่อนคอยให้คำแนะนำ และเมื่อหมดวาระของตนแล้ว ก็จะกลายเป็นคณะกรรมการนักเรียนชุดที่ปรึกษา ซึ่งก็คือในช่วงมัธยมศึกษาปีที่6
คณะกรรมการนักเรียน 1 คณะ มีทั้งสิ้น 42 คน 20 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานนักเรียน รองประธานนักเรียนฝ่ายกิจกรรมประจำ (เดิม-กิจกรรมในหลักสูตร) , รองประธานนักเรียนฝ่ายกิจกรรมพิเศษและสถานที่ (เดิม-กิจกรรมเสริมหลักสูตร) รองประธานนักเรียนฝ่ายนันทนาการและบริการ (เดิม-กิจกรรมนอกหลักสูตร) เลขานุการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม สารสนเทศ สาราณียากร ศิลป์ เชียร์ โสตทัศนูปกรณ์ ประเมินผล สวัสดิการ พัสดุ บันเทิง กีฬา บริการ และ อาคารและสถานที่
คณะกรรมการพรรค เป็นตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากพรรคสีทั้ง 6 พรรค มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะกรรมการนักเรียนและสมาชิกในพรรค รวมทั้งช่วยเหลือคณะกรรมการนักเรียนทำกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน คณะกรรมการพรรค มีทั้งสิ้น 6 พรรค พรรคละ 10 คน 10 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานพรรค รองประธานพรรค เลขานุการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ กีฬา สาราณียกร เชียร์ โสตทัศนูปกรณ์ และ ศิลป์
กีฬาพรรคโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2490 อาจารย์โอบ ปักปิ่นเพชร อาจารย์ใหญ่ในขณะนั้น จัดเป็นกีฬาพรรค 4 พรรค คือ พรรคนาวิน พรรคฟ้าฟื้น พรรคเชิดชัย และพรรคศรเหล็ก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2523 ในสมัยอาจารย์สมพงศ์ สงวนพงศ์ เป็นหัวหน้าหมวดกิจกรรมนักเรียน และอาจารย์สากล พรหมอักษรเป็นที่ปรึกษา มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมการกีฬาและกิจกรรมอื่นๆ อย่างทั่วถึง จึงได้จัดให้มีการตั้งพรรคเพิ่มขึ้นอีก 2 พรรค โดยมีการประกวดการตั้งชื่อพรรค ด้วยเหตุนี้จึงได้กำเนินพรรคสายฟ้า และพรรคจุฬาลักษณ์นับแต่นั้นมา
นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศทุกคนมีพรรคสังกัด โดยนักเรียนอยู่พรรคเดียวกันทั้งห้องเรียน การสังกัดพรรคใช้การเลือกแบบการจับฉลากโดยจะทำเฉพาะชั้น ม.1 และ ม.4 นักเรียนจะสังกัดพรรคตามห้องเรียนจนกระทั่งจบ ม.3 หรือ ม.6 กิจกรรมพรรคที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์พรรคในช่วงต้นภาคเรียนที่ 1 กีฬาพรรค กลางภาคเรียนที่ 1 และกีฬาดิวิชั่นในภาคเรียนที่ 2 โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จะเป็นผู้นำในการควบคุมรุ่นน้องในเรื่องการเชียร์กีฬา และ การแข่งขันกีฬา
หอประชุมลานเข้าแถว เป็นสถานที่ใช้ในเข้าแถวของนักเรียน ประชุมระดับชั้น และประกอบกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน
โรงยิมเนเซียม เป็นสถานที่ใช้ในการฝึกวิชาพลศึกษา และห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
หอพระสูง เป็นที่ประดิษฐานของพระสูง (จำลอง) จากบริเวณสนามหน้าเมือง เขตวัดพระสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในยุคสนามหน้าเมือง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลานพระราชพิธีสักการะอนุสาวรีย์
สนามฟุตบอล ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนสามารถมองเห็นได้บนถนน โรงเรียนมีแผนพัฒนาทำระบบลู่วิ่งเหมือนกับสนามกีฬา
สวน 100 ปีเบญจม เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน บริการเรือพาย อยู่บริเวณหลังอาคาร 7
นอกจากนี้ภายในบริเวณของโรงเรียนยังมีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ บ้านพักครู การประปา สวนต่างๆ ลาน สนามเทนนิสและสนามกอล์ฟขนาดเล็ก
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเบญจมราชูทิศ_นครศรีธรรมราช